เสด็จเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (ลาว: ?????????????????? ?? ???????; ประสูติ: 12 ธันวาคม พ.ศ. 2454 – สิ้นพระชนม์: 17 มีนาคม พ.ศ. 2523) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 13 (พระองค์สุดท้าย) ทรงสืบเชื้อสายราชวงศ์มาจากสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาราชอาณาจักรจำปาศักดิ์และเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ของลาว เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว 2 สมัย อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรลาว และประมุขแห่งราชสกุล ณ จำปาศักดิ์ ทรงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองลาวในฐานะลาวฝ่ายขวาหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยพระราชอาณาจักรลาวในปี พ.ศ. 2518 ทรงได้รับการยกย่องจากประชาชนชาวลาวในฐานะที่เป็นผู้ยอมสละราชบัลลังก์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ เพื่อให้ประเทศลาวรวมเป็นแผ่นดินเดียวกัน และทรงดำรงพระอิสริยยศแห่งราชวงศ์สูงเป็นลำดับที่ ๓ ของพระราชอาณาจักร รองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและองค์มกุฎราชกุมาร
เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2454 ภายในพระราชวังหรือหอโฮงหลวงนครจำปาศักดิ์ ณ ดอนท่าลาด แขวงนครจำปาศักดิ์ เมื่อครั้งลาวยังตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นพระราชโอรสในยั้งขะหม่อมสมเด็จเจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 12 (ระหว่าง พ.ศ. 2436 – 2489) และพระอัครชายาเจ้าเฮือนหญิงสุดสมร เป็นพระราชนัดดาในยั้งขะหม่อมสมเด็จเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 11 ทรงมีพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดา ๒ พระองค์คือ เจ้าสมบูรณ์ ณ จำปาศักดิ์ และเจ้าบุญอ้อม ณ จำปาศักดิ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาวในรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว ทรงสำเร็จการศึกษาจากสำนักการศึกษาในอินโดจีนของฝรั่งเศส ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ใน พ.ศ. 2484 เมื่อนครจำปาศักดิ์กลับมาเป็นของไทยหลังกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส และฝรั่งเศสได้คืนนครจำปาศักดิ์กลับไปแก่ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสได้สถาปนาให้เจ้าบุญอุ้มเป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ เมื่อลาวได้รับเอกราช จำปาศักดิ์จึงถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของลาว เจ้าบุญอุ้มจึงสละสิทธิ์การเป็นกษัตริย์เหนือดินแดนดังกล่าว
สภาวะความวุ่นวายทางการเมืองของลาวหลังได้รับเอกราช ทำให้ลาวแบ่งขั้วทางการเมืองออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ลาวฝ่ายขวาซึ่งนิยมสหรัฐอเมริกา ลาวฝ่ายซ้ายซึ่งนิยมเวียดนาม และยังมีฝ่ายเป็นกลางที่พยายามประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายข้างต้น เจ้าบุญอุ้มทรงเป็นหนึ่งในสามเจ้าลาวที่มีบทบาทในฐานะลาวฝ่ายขวา เมื่อเจ้าสุวรรณภูมาพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางใน พ.ศ. 2493 และสามารถเจรจากับลาวฝ่ายซ้ายคือฝ่ายของเจ้าสุพานุวงสำเร็จแล้ว เจ้าบุญอุ้มซึ่งมีไทยและสหรัฐอเมริกาหนุนหลังได้ทรงคัดค้านอย่างแข็งขัน ทำให้รัฐบาลของเจ้าสุวรรณภูมาถูกกดดันจนต้องล้มไป
พ.ศ. 2497 ท้าวกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับใช้ฝรั่งเศสมาอย่างซื่อสัตย์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท้าวกระต่ายผู้นี้ เป็นผู้ที่วอชิงตันได้เลือกสรรมาแล้วว่าจะเป็นผู้ทำทุกอย่างในการขัดขวางไม่ให้มีการตั้งรัฐบาลผสม และภรรยาคนที่ ๒ ของท้าวกระต่ายก็เป็นพระขนิษฐาของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ สหรัฐอเมริกาจึงเล็งว่า ควรจะผลักดันให้เจ้าบุญอุ้มได้เป็นพระเจ้ามหาชีวิตองค์ต่อไปแทนพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ที่กำลังประชวรอยู่ ต่อมา ใน พ.ศ. 2502 ท้าวโง่น ชนะนิกอนได้ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน จากนั้น นายพลพูมี หน่อสะหวันจึงเข้ายึดอำนาจการปกครองในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2502 ต่อมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 ร้อยเอกกองแล วีระสานก็เข้ายึดอำนาจในกรุงเวียงจันทน์ และสนับสนุนให้เจ้าสุวรรณภูมากลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เจ้าบุญอุ้มทรงคัดค้านและไม่ยอมเจรจากับร้อยเอกกองแล
10 กันยายน 2503 พูมี หน่อสะหวันได้ประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรลาว และประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ขณะเดียวกันก็ได้จัดตั้งคณะปฏิวัติตามแบบอย่างของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้เป็นน้า โดยให้เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นหัวหน้าคณะ นิตยสารไทม์ของอเมริกันได้เคยชมเชยเจ้าบุญอุ้มไว้ว่าเป็นแบบฉบับของผู้ชายเจ้าสำราญของลาวโดยแท้ พระองค์ทรงมีของโปรดอยู่ 3 อย่างคือ เงิน เหล้า และผู้หญิง ดังนั้นเมื่อเจ้าบุญอุ้มได้มาเป็นผู้นำคณะปฏิวัติก็เป็นเรื่องขบขันกันทั่วทั้งเวียงจันทน์ เหตุที่เจ้าบุญอุ้มและพูมีไม่พอใจรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาและทำรัฐประหารซ้อนล้มรัฐบาลนั้น ภูมีอ้างว่าเพราะรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาไม่สามารถรักษาสถานการณ์ได้ ทรงปล่อยให้เวียดมินห์บุกรุกราชอาณาจักรลาวทางด้านแขวงพงสาลี ซำเหนือ และเชียงขวาง แต่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเพราะภูมีไม่พอใจในนโยบายเป็นกลางและสันติของเจ้าสุวรรณภูมา ซึ่งมีกีนิน พลเสนา ผลักดันอยู่เบื้องหลัง และเพราะในการดำเนินนโยบายเป็นกลางในสายตาของภูมีที่สวมแว่นอเมริกันเห็นว่า เป็นการเปิดโอกาสให้คอมมิวนิสต์และแนวลาวรักชาติมีอำนาจมากขึ้น ภูมีจึงพยายามที่จะเอาชนะทางการทหารเพื่อใช้ต่อรองทางการเมือง แต่ก็ไม่อาจทำได้สำเร็จ
หลังจากกองแลยึดอำนาจที่กรุงเวียงจันทน์แล้ว ทำให้ไทยและสหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในลาว ไทยและสหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนฝ่ายนายพลพูมี หน่อสะหวัน ซึ่งพยายามสร้างกองกำลังของตนเองที่แขวงสะหวันนะเขต (สุวรรณเขต) ทางตอนกลางของลาว ไทยได้เปิดโอกาสให้สหรัฐตั้งฐานทัพภายในประเทศเพื่อสะสมกองกำลังทิ้งระเบิดในลาว อันนำมาซึ่งความโกรธแค้นของลาวที่มีต่อไทยและสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ฝ่ายเจ้าสุวรรณภูมาทรงพยายามเจรจากับฝ่ายปะเทดลาวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม สหรัฐพยายามกดดันให้เจ้าสุวรรณภูมาเปิดการเจรจากับนายพลพูมี หน่อสะหวัน จนทำให้เจ้าสุวรรณภูมาต้องเสด็จลี้ภัยไปประเทศกัมพูชา เมื่อ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ฝ่ายร้อยเอกกองแลหันไปร่วมมือกับขบวนการปะเทดลาว ต่อมา พ.ศ. 2504 จึงได้มีจัดตั้งรัฐบาลลาวฝ่ายขวา โดยมีเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์เป็นผู้นำ ทำให้สงครามกลางเมืองในลาวขยายตัวมากยิ่งขึ้น
ต่อมา เมื่อสหรัฐได้นำเจ้าบุญอุ้มเข้าร่วมการประชุมเจนีวาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 การเจรจาได้ยืดเยื้อจนถึง พ.ศ. 2505 ในที่สุด ที่ประชุมยอมให้เจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้นำของลาว บทบาททางการเมืองของเจ้าบุญอุ้มจึงลดลง หลังจากนั้น ฝ่ายขบวนการปะเทดลาวสามารถรุกคืบหน้าจนได้ชัยชนะใน พ.ศ. 2518 ส่วนเจ้าบุญอุ้มได้เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ทรงประทับและสิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2523
หลังจากฝรั่งเศสได้ยึดจำปาศักดิ์จากสยามและยินยอมให้ลาวประกาศเอกราชแล้ว ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสได้บังคับพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรลาว ให้มีความเห็นร่วมในการลดฐานะความเป็นเจ้าของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ในการที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ ให้กลายเป็นเพียงเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์คอยตรวจราชการต่างพระเนตร-พระกรรณ และเป็นประมุขแห่งราชสกุลเท่านั้น จากการเห็นชอบโดยรวมระหว่าง 2 ฝ่าย ได้ลงมติว่าฐานะของเสด็จเจ้าบุญอุ้ม จะต้องเป็นไปตามสัญญาต่อท้าย (Protocole secret annexe au Modus Vivendi) ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1946 ดังนี้
1. เสด็จเจ้าบุญอุ้ม จะทรงรักษาไว้ซึ่ง ฐานันดรศักดิ์ ด้วยการสืบทอดเชื้อสายโดยตรง ทางเพศชาย นามยศ เจ้านครจำปาศักดิ์
2. ตำแหน่งและอภิสิทธิ์ต่างๆ ของเจ้านครจำปาศักดิ์ จะเป็นอันดับรองโดยตรงจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและองค์มกุฎราชกุมาร
3. เสด็จเจ้านครจำปาศักดิ์ จะทรงได้รับ ค่าใช้จ่ายเพื่อบริหารงาน และการอำนวยความสะดวกประจำปี จากงบประมาณแห่งพระราชอาณาจักรลาว เท่ากับ 2/3 ของพระราชวังฯ เสด็จเจ้านครจำปาศักดิ์จะทรงได้รับอสังหาริมทรัพย์ ที่ประทับ ไฟฟ้า รถยนต์ประจำตำแหน่ง ตลอดทั้งคนขับ
4. เสด็จเจ้านครจำปาศักดิ์โดยตำแหน่ง ทรงเป็นองค์ตรวจราชการเมืองการปกครองต่างพระเนตร-พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต โดยตำแหน่งนี้ จะทรงขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต
5. เพื่อการรวมลาวเป็นหนึ่งเดียว เสด็จเจ้านครจำปาศักดิ์ จะทรงไม่ยอมรับที่จะขึ้นครองราชอาณาจักรจำปาศักดิ์
เมื่อเจ้าบุญอุ้มทรงยอมสละสิทธิ์เหนือดินแดนราชอาณาจักจำปาศักดิ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรลาวจึงมีพระราชเลขาตอบกลับมา เพื่อแสดงความพอพระทัยและขอบพระทัยในความเสียสละของพระองค์ ดังความว่า
"...ท่านวอนเคารพในการตรวจสอบ และขอร้องแก่เรา เพื่อทราบความรู้สึกของเรานั้น เราขอแสดงว่า การให้คำค้ำประกันในทางส่วนตัวอันเกี่ยวข้องทางตำแหน่งเจ้าราชวงษ์ ณ จำปาศักดิ์นั้นซึ่งเป็นที่ยอมรับรู้ในโพรโทคอล ผนวกท้ายสัญญาโมดัสวิวังดี ยังคงใช้ได้แน่นอน เราเสียดายเพียงแต่ในระยะเวลาที่ประเทศลาวได้ถูกปลดปล่อยในสถาบันประชาธิปไตยเช่นนี้ ซึ่งในฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของเรา จะต้องลดลงมาอยู่ภายใต้เสียงโหวตของประชาชน ตามบันทึกข้อตกลงในโพรโทคอลเกี่ยวกับตัวท่าน... ฝ่าพระบาท เรายอมรับนับถือในความเสียสละของท่าน และความเที่ยงธรรมของท่าน ในการช่วยอุ้มชู และเสริมสร้างความคิดเห็นให้แก่ประเทศชาติ เราขอแสดงความรู้สึกอันจริงใจความรักแบบความเคารพอย่างสูงมายังฝ่าพระบาท
นครจำปาศักดิ์และหัวเมืองอันรวมเป็นราชอาณาจักรล้านช้างของชาวลาวตอนใต้ ได้พบกับมรสุมทางการเมืองจากหลายฝ่ายทั้งสยามและฝรั่งเศส จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1948 กองประชุมสภาร่วมได้เสนอให้เสด็จเจ้าบุญอุ้มดำรงตำแหน่งประธานสภาร่วม พระองค์ทรงกล่าวคำปราศรัย ณ ที่ประชุม ในคำปราศรัยนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกสูญเสีย ความคับแค้นใจ ความไม่พึงพอใจที่พระองค์ถูกลดฐานะบทบาทในการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ ซึ่งบรรพบุรุษของพระองค์ได้สถาปนามายาวนานถึง 236 ปี ให้กลายเป็นเพียงเจ้าผู้ครองนครและไร้อำนาจเต็มในการจัดการกับเมืองต่างๆ ที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรจำปาศักดิ์ ดังความว่า
"...บรรดาสมาชิกสภาร่วม และ เพื่อนที่นับถือ เอกสาร 2 ฉบับที่ได้ส่งถึงสภาร่วม ฉบับหนึ่งในนามของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน และอีกฉบับหนึ่งในพระปรมาภิไทยพระเจ้ามหาชีวิต จุดประสงค์รวมของเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ ก็คือ เสนอการพิจารณาเงื่อนไขของ "สัญญาต่อท้าย" ในการอภิปราย ที่จะเริ่มขึ้นนี้ บรรดาท่านสมาชิกจำนวนหนึ่งอาจมองเห็นแต่ปัญหาส่วนตัว พร้อมกันนั้นข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่า บรรดาท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจเหตุผลที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิเสธเกียรติยศอันสูงส่ง ที่บรรดาท่านได้แสดงออกต่อข้าพเจ้าในการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาร่วม ถึงอย่างไรก็ดีก่อนจะออกจากสถานที่แห่งนี้ไป ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่ามันเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ในนามผู้ร่วมเซ็น "สัญญาต่อท้าย" ผู้ที่ 3 ข้าพเจ้าจะขอกล่าวต่อบรรดาท่าน อันอาจเป็นคำอำลา
ข้าพเจ้ายอมรับฐานันดรศักดิ์ "เจ้านครจำปาศักดิ์" ก็เนื่องด้วยข้าพเจ้ามั่นใจว่ามันเป็นการถูกต้อง เป็นธรรม ในบรรยากาศของประเทศลาวใหม่ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่นามสกุลของครอบครัวข้าพเจ้า จะไม่ถูกลบล้างจากความทรงจำ พรหมลิขิตไม่เข้าข้างอาณาจักรจำปาศักดิ์เสียแล้ว และมันก็เป็นความประสงค์ของพวกเราทุกคน ที่จะไม่ยกมันขึ้นมาอีก
ข้าพเจ้าได้ปกครองประชาราษฎร "ลาวทางภาคใต้" ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขาเป็นเวลายาวนาน ในวาระที่บ้านเมืองประสบความยุ่งยากจากศึกสงคราม ข้าพเจ้าได้ร่วมรบเคียงบ่า-เคียงไหล่กับลูกหลานของพวกเขา บรรดาท่านคงจะไม่สงสัยว่า ข้าพเจ้าก็รักพวกเขาอย่างสุดหัวใจ ข้าพเจ้าได้ยอมรับตำแหน่งผู้ตรวจการด้านการเมืองและการปกครอง ก็เพราะว่าข้าพเจ้าได้สำนึกในความผูกพันกับพวกเขา ข้าพเจ้าจึงกล้าตัดสินใจรับเอาความรับผิดชอบในอนาคต ข้าพเจ้าขอร้องให้บรรดาท่านทั้งหลายจงพิจารณาว่า ข้าพเจ้ามีเหตุผลหรือไม่ ที่จะรับเอาความชอบธรรมอันนั้น?
ข้าพเจ้าขอขอบใจต่อรัฐบาลฝรั่งเศส ที่ได้ตัดสินใจเปิดเผยสัญญาที่ได้ถือกันเป็นความลับ ให้บรรดาท่านได้ทราบ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณต่อพระเจ้ามหาชีวิต ที่ได้ทรงเห็นชอบร่วมกันอันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องได้รับความเจ็บปวด จากความไม่เข้าใจที่เกิดจากเอกสารลับ ที่ได้ร่างขึ้นอย่างกะทันหัน
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคู่เซ็นสัญญาผู้สูงศักดิ์ ยังคงยึดมั่นอย่างมั่นคงต่อคำสัญญา โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ปรารถนาสิ่งใด ถ้าหากว่าการปรากฏตัวของข้าพเจ้าอยู่ในประเทศลาว จะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความวุ่นวาย อันจะเป็นอันตรายรวมลาวที่พึ่งจะได้มาในขณะนี้..."
หลังจากเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ถูกลดสถานะความเป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์แล้ว พระองค์ทรงดำรงบทบาทในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองลาวด้วย ในเอกสารหน่วยผสม 333. เรื่อง 700 ปีแห่งมรสุมในพระราชอาณาจักรลาว ของคณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ได้เผยแพร่พระราชสาส์นของสมเด็จเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย (ลับมาก) ได้กราบทูลไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรลาว มีความว่า
"...โดยจุดประสงค์ สันติภาพและมุ่งหวังในขอบเขตจำกัด พวกทหารราบอากาศที่ 2 ซึ่งไม่พึงพอใจบางสิ่งบางอย่างได้ตั้งตัวแข็งข้อต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ข้าพระบาทได้เห็นสภาพการณ์เวียงจันทน์ เวลาเหตุเกิดขึ้นวันที่ 4 สิงหาคมแล้วนี้ ก็ไม่นึกว่าการกระทำของเขาพอจะนำเอาความกระทบกระเทือนมาสู่พระราชอาณาจักรปั่นป่วนจนต่ำต้อย ถอยลงทุกๆ วัน พวกก่อการวุ่นวาย พร้อมด้วยคณะสมรู้ร่วมคิดของเขาก็ฉวยโอกาส ดัดแปลงสถานการณ์ไปเป็นจุดหมายของเขาอย่างง่ายดาย คือทำให้ประเทศชาติของเราเป็นคอมมิวนิสต์ในไม่ช้านานนี้ พวกข้าพระบาทได้ลุกขึ้นทำสถานการณ์ครั้งนี้ก็เนื่องจากรัฐบุรุษบางคน และนักการเมืองบางพรรค สวมเอากำลังและผลงานอันดีของคณะรัฐประหาร มาสร้างอิทธิพลส่วนตัว ซึ่งไม่มีใครปรารถนาที่จะปล่อยให้เป็นไปได้ ข้าพระบาทได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นำพาให้รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาจัดตั้งขึ้น ได้เห็นการโหดร้าย การหลบลี้หนีภัย การข่มขู่ผู้แทนราษฎร อันทำให้การประชุมสภาแห่งชาติผิดไปหมด วิธีการข่มขู่ลงมติและวิธีทำให้ประชาชนสนับสนุนการทารุณต่างๆ ก็ไม่แตกต่างวิธีปฏิบัติของคอมมิวนิสต์เลย สิ่งที่ร้ายแรงแท้นั้น ตั้งแต่รัฐบาลสุวรรณภูมาขึ้นกำอำนาจ ก็ได้ชักนำคณะปะเทดลาวทวีการล้างบ้านเผาเมือง ขู่ขวัญประชาชนให้หวาดหวั่นเกรงกลัวอย่างร้ายกาจ เขาโจมตีค่ายทหารของเราที่แขวงพงสาลี ซำเหนือ ทำลายหัวสะพาน ถนนหนทาง กั้นกางการเคลื่อนไหวของกำลังช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติ ต่อหน้าสภาพการณ์อันเศร้าทั้งหมดนี้ รัฐบาลเวียงจันทน์ก็มิได้นำพา กลับเพิกเฉยเสีย เหมือนดังเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดนำด้วย กำลังของเราก็เคลื่อนถอนมารวมกันอยู่เหมือนจะปล่อยให้ประชาชนตกอยู่เงื้อมมือของคณะทรยศต่อชาติ ประหัตประหารฆ่าฟันทารุณทำให้บาดเจ็บช้ำใจ ตามใจพวกเขาด้วยการจำเป็น เสียดายของพวกเรา พร้อมกันนั้นพวกศัตรูก็โฆษณาใส่ร้ายป้ายสีทำลายระบอบปกครองของพวกเราทั่วพระราชอาณาจักร ยิ่งกว่านั้นการประนามสร้างตึงเครียด เกลียดแค้นก็มาจากเวียงจันทน์นั้นเอง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คณะปะเทดลาวที่อ้างตนว่าจะมาติดต่อเจรจาหยุดรบ ได้บุกรุกเข้ามาสมทบกับแนวขบวนวุ่นวายเวียงจันทน์ หลอกลวงให้จ่ายปืนและอาวุธอื่นๆ ให้คณะสนับสนุนของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลไม่สามารถปกป้องคุ้มครองความเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ในวิถีทางสันติได้
ต่อหน้าสภาพการณ์อันนี้ ข้าพระบาทใคร่ขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองพระบาทสมเด็จพระเจ้าว่า เห็นผลที่จะทำให้บ้านเมืองเราเสื่อมเสียลงทุกวันนี้มีสองประการ ด้านหนึ่งคือความหวังควบคุมอำนาจ เพื่อป้องกันผลประโยชน์ครอบครัวของเจ้านายบางคน ถึงว่าบรรดาเจ้านายพวกนั้นรู้ดีว่ามันตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ประเทศชาติก็ดี ด้านหนึ่งนักการเมืองเถื่อน เฉพาะอย่างยิ่งพรรคแนวลาวรักชาติ ได้ถือโอกาสฟื้นขยายตัวซึ่งเขาปฏิบัติไม่ได้ ถ้าว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะเรียบร้อย จุดหมายที่เขาได้แสดงให้เห็นอย่างจะแจ้งก็คือ หวังยึดเอาเขตแดนให้กว้างขึ้น ไว้รวบรวมกำลังประกอบอาวุธ แล้วบุกตีโค่นล้มระบอบการปกครอง พร้อมทั้งรัฐบาลเป็นครั้งใหญ่และครั้งสุดท้าย โดยรัฐบาลอาจหลงเชื่อและสมรู้ร่วมคิดอย่างไม่รู้สึกตัวก็เป็นได้ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ข้าพระบาทขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นภัยอันตราย เพื่อมิให้การยั่วเย้าหลอกลวงอันชั่วช้านี้ได้ ก็มีแต่การลงมือปฏิวัติกระทันหันรีบด่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ข้าพระบาทจึงได้ตัดสินใจนำหน้าคณะปฏิวัติ กั้นการทำลายประเทศชาติและระบอบปกครองของเราในโอกาสนี้ ในการปฏิบัติงานเพื่อชาติในครั้งนี้ ข้าพระบาทขอน้อมเกล้าถวายแด่ใต้ฝ่าพระบาท ซึ่งเจตนาบริสุทธิ์สูงส่งของพระบาท พร้อมด้วยคณะอันมาจากความรักชาติอันแท้จริง อยากรักษาจารีตประเพณี ความเป็นอิสระเสรี เอกราชและเอกภาพ จุดหมายปลายทางตอนต้นของคณะปฏิวัติก็คือ จัดให้พระราชอาณาจักรมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสงบสุข นับถือวินัย ถือในอิสระเสรี ด้วยว่ารัฐบาลนี้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน และไม่สามารถคุ้มครองพระราชอาณาจักรได้ คณะจึงได้ประกาศยุบรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา เห็นว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐสภาขาดอิสระเสรีในการลงมติต่างๆ คณะจึงงดใช้การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไว้ชั่วคราว เมื่อคณะปฏิวัติ หากปฏิวัติสำเร็จแล้ว พวกข้าพระบาทจะทูลถวายอำนาจบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทันใด บุคคลบางคนอันไร้เจตนาดี ใส่ร้ายป้ายสีคณะปฏิวัติในทำนองว่า อยากแบ่งแยกประเทศลาวของเราเป็นสองขั้นสองตอน ข้าพระบาทขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองพระบาทว่า เป็นการกล่าวหาอันไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใดเลย ข้าพระบาทเชื่ออยู่เสมอว่า ข้าพระบาทเคยบริสุทธิ์ใจ แสดงท่าทีและปฏิบัติงานเพื่อความเป็นเอกภาพมาได้นานแล้ว ยิ่งกว่านั้น ท่าทีในบรรดาผู้ร่วมงานข้าพระบาทคราวนี้ก็ล้วนแล้วแต่แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งเป็นบุคคลที่มาจากทุกๆ แขวงในพระราชอาณาจักร และซึ่งเคยเป็นผู้รักษาและรักหวงเอกภาพประเทศชาติแต่ใดมา
หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้คืนดินแดนจำปาศักดิ์ที่ได้มาเมื่อปี พ.ศ. 2484 ให้แก่ฝรั่งเศส แต่ลาวต้องกลับไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสตามเดิม เจ้าบุญอุ้มผู้เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของเจ้านครจำปาศักดิ์พระองค์ก่อน ได้รับการตอบแทนจากฝรั่งเศสอย่างมหาศาล ด้วยการสถาปนาให้เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ และมีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ ณ เมืองปากเซทางตอนใต้ของลาว พระองค์จึงมีโอกาสและช่องทางแสวงหาทรัพย์สินจำนวนมาก โดยเฉพาะผลกำไรจากกิจการเหมืองแร่และกิจการค้าอาวุธกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ตลอดจนงบประมาณประจำปีจำนวนมากที่รัฐบาลต้องจ่ายให้ตามสัญญาต่อท้าย เมื่อพระองค์ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาที่เมืองปากเซ ในปี พ.ศ. 2511 พระองค์ก็ทรงสร้างพระราชวังอันหรูหราและใหญ่โตขึ้นที่บ้านพระบาท บนเนินสูงใจกลางเมืองปากเซ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระองค์ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ และใช้เป็นสถานที่ว่าราชการเมือง ห่างจากตัวเมืองปากเซไปทางทิศตะวันออกบนทางหลวงหมายเลข 13 ระยะทางประมาณ 500 เมตร ใกล้กับวัดพระบาท ราว 0.2 กิโลเมตร และใกล้กับพิพิธภัณฑ์มรดกทางประวัติศาสตร์จำปาสัก ราว 0.8 กิโลเมตร
การก่อสร้างพระราชวังจำปาสักแห่งใหม่นี้ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานราว 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2518 ต้องอาศัยสถาปนิกจากฝรั่งเศส ออกแบบตามรูปแบบสถาปัตยกรรมลาวตอนใต้ ผสมกับสถาปัตยกรรมโคโลเนียลฝรั่งเศส และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาต่อท้ายซึ่งมีฝรั่งเศสเป็นฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้าง อาศัยแรงงานทั้งจากประเทศลาว ประเทศเวียตนาม และประเทศไทยจำนวนมาก ช่างชาวอีสานที่เคยเดินทางไปแกะสลักลวดลายในพระราชวังจำปาศักดิ์ที่มีชื่อเสียงก็คือ นายจันที แหวนเพชร ช่างแกะสลักหินชาวบ้านนากระเดา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ พระราชวังจำปาสักนี้สร้างเป็นตึกสูงสง่า 6 ชั้น ก่ออิฐถือปูนและฉาบปูนทั้งหมด แต่บ้างก็กล่าวกันว่าผนังของอาคารพระราชวังแห่งนี้ไม่มีการก่ออิฐถือปูน และฐานของพระราชวังไม่มีการตอกเสาเข็ม แต่อาศัยเสาจำนวนมากเป็นฐานในการรองรับน้ำหนัก แปลนของพระราชวังประกอบด้วยตัวอาคารขนาดใหญ่ 3 ส่วน รูปตัวอี (E) ทุกส่วนเชื่อมถึงกันทั้งหมด พระราชวังหันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง มีด้านหลังติดกับแม่น้ำเซโดนซึ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเซ บริเวณท่าแพข้ามฟากปากเซ-เมืองเก่าซึ่งลาวเรียกว่า ท่าบัก แต่ละชั้นของพระราชวังประกอบไปด้วยป่องเอี้ยมหรือหน้าต่างประดับลวดลายลาวโบราณอย่างวิจิตรงดงามทุกบาน ภายในพระราชวังมีประตู-หน้าต่างรวมกันทั้งหมดมากกว่า 1,900 บาน จนได้รับฉายาจากชาวลาวว่า ศาลาพันป่อง หรือ ศาลาพันห้อง บ้างก็นิยมเรียกว่า เฮือนใหย่ปะซาซน (เรือนใหญ่ประชาชน) เล่าลือกันว่า หากให้คนเพียงหนึ่งคนคอยเปิด-ปิดหน้าต่างทั้งหมดของพระราชวัง ต้องใช้เวลา 1 วันพอดี จุดสูงสุดของพระราชวังคือชั้นที่ 6 สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของตัวเมืองปากเซโดยรอบทั้งหมด ตลอดจนสามารถมองเห็นสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ทอดตัวยาวข้ามแม่น้ำโขง สามารถมองเห็นสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเซโดนที่อยู่ติดด้านหลังของพระราชวัง และสามารถใช้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตกที่สวยงามแห่งหนึ่งของลาวใต้ด้วย
หลังการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ.1975 (พ.ศ. 2518) ทำให้พระราชวังของเจ้าบุญอุ้มอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ส่วนพระองค์เองทรงเสด็จลี้ภัยไปประทับอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1978 (พ.ศ. 2521) กล่าวกันว่า พระองค์ไม่เคยมีโอกาสประทับอยู่ในพระราชวังแห่งนี้เลย เนื่องจากต้องเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่ก่อนพระราชวังจะสร้างเสร็จ พระราชวังแห่งนี้ถูกก่อสร้างทิ้งค้างไว้ไม่นาน ทางรัฐบาลลาวจึงปรับปรุงใช้เป็นที่จัดประชุมพรรคและใช้เป็นที่พำนักของแขกบ้านแขกเมืองมาจนถึง พ.ศ. 2538 รัฐบาลลาวจึงเปิดโอกาสให้บริษัทของคนไทยคือ ดร.ปองศักดิ์ ว่องพาณิชเจริญ ชาวจังหวัดศรีสะเกษ จัดการต่อเติมจนเสร็จสิ้น และเปิดเป็นโรงแรมในภายหลัง ปัจจุบันพระราชวังของเจ้าบุญอุ้มได้ถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของเมืองปากเซชื่อว่า โฮงแฮมจำปาสักพาเลด หรือโรงแรมจำปาสักพาเลส (Champasak Palace Hotel) บริหารโดยบริษัท จำปาสัก พาเลด โรงแรมและการท่องเที่ยว แต่เดิมผู้ลงทุนชาวไทยเคยเปลี่ยนชื่อโรงแรมแห่งนี้เป็น พระราชวังจำปาสัก ตามคำแปลเดิม โดยไม่ได้รอการอนุญาตจากทางการแต่ต่อมาทางการไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อนี้ เนื่องจากเป็นชื่อที่สนับสนุนแนวคิดในระบอบการปกครองเดิม จึงได้เปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อจำปาสักพาเลดตามเดิม ต่อมาโรงแรมได้ถูกสัมปทานให้กับชาวลาวเชื้อสายเวียตนาม ปัจจุบัน ภายในห้องล็อบบี้ของโรงแรมกรุด้วยไม้และมีการแกะสลักอย่างงดงาม ห้องประชุมตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปชาวลาวลุ่มและชาวเผ่าต่างๆ ของลาวใต้ และมีจำนวนห้องพักทั้งหมด 115 ห้อง
วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระราชอาณาจักรสยาม ทรงพระราชทานนามสกุล ณ จัมปาศักดิ์ (Na Champassakdi) ลำดับสกุลพระราชทานที่ 1618 แก่บรรดาพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่แห่งราชวงศ์จำปาศักดิ์ที่เสด็จมาประทับและรับราชการในประเทศไทย ด้วยไม่ปรารถนาจะเป็นข้าราชการของอินโดจีนฝรั่งเศส 2 พระองค์ คือ เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เจ้าเบงหรือเจ้าเบ็งคำ) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายอำเภอเมืองพิษณุโลก ปลัดเมืองแพร่ และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (เจ้าอุยหรือเจ้าอุ้ย) อภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตพระราชอาณาจักรลาว ณ นครเวียงจันทน์ อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในพระราชอาณาจักรสยาม เจ้านายทั้ง 2 พระองค์นี้ทรงเป็นพระราชโอรสในยั้งขะหม่อมสมเด็จเจ้ายุติธรรมธร (เจ้าคำสุกหรือเจ้าคำศุข) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 11 และเป็นพระราชนัดดาในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมปาศักดิ์ (ฮุย) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 7 นอกจากนี้ ทั้ง 2 พระองค์ยังทรงเป็นพระปิตุลา (อา) ของเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ อีกด้วย
ต่อมา ใน พ.ศ. 2490 หลังจากฝรั่งเศสแต่งตั้งให้เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นผู้สำเร็จราชการการเมืองการปกครองต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักลาว และภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรลาวซึ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว เจ้าบุญอุ้มไม่พอพระทัยและไม่ปรารถนาที่จะให้ราชสกุลของพระองค์เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ตามความต้องการของพระปิตุลาทั้ง 2 พระองค์ เจ้าบุญอุ้มจึงมีความดำริที่จะใช้ราชสกุลให้แตกต่างจากสกุลพระราชทานของกษัตริย์สยาม โดยอาศัยพระราชนิยมเดิมจากสกุล ณ จัมปาศักดิ์ เป็นเหตุให้พระองค์ทรงตั้งราชสกุล ณ จำปาศักดิ์ (Na Champassak) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นราชสกุลของพระองค์เองในฐานะประมุขสูงสุดของราชวงศ์จำปาศักดิ์ และสำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จำปาศักดิ์ทั้งหมด ซึ่งมีพระประสูติกาลและประทับอยู่ในพระราชอาณาจักรลาวและนครจำปาศักดิ์
ข้อแตกต่างระหว่างราชสกุลที่พระองค์ทรงใช้และราชสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ของสยามก็คือ ราชสกุลของพระองค์ทรงใช้คำว่า จำ เป็นคำนำหน้าซึ่งเป็นการเขียนแบบภาษาลาว ส่วนราชสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ของสยามนั้นใช้คำว่า จัม (จมฺ) ซึ่งมาจากภาษาบาลี ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้ภาษาอังกฤษในราชสกุลของพระองค์นั้น ทรงไม่ใช้คำว่า di ลงท้ายคำ แต่ราชสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 แห่งสยามนั้นใช้คำว่า di ลงท้ายตามรากศัพท์ภาษาบาลี-สันสกฤต อย่างไรก็ตาม เจ้านายในจำปาศักดิ์บางองค์ที่ประทับอยู่ในพระราชอาณาจักรลาวและนครจำปาศักดิ์ ยังมีการใช้ราชสกุลที่รับพระราชทานจากพระองค์ว่า ณ จำปาสัก หรือ นะจำปาสัก (?????????) หรือ นะ จำปาสัก (?? ???????) และ นะจำปาสักดิ (???????????) ก็มี ราชสกุลที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการเขียนตามแบบอย่างภาษาลาวตามความเข้าใจของเจ้านายจำปาศักดิ์บางพระองค์ เนื่องจากในชั้นต้นนั้นภาษาลาวในฝ่ายอาณาจักรไม่นิยมใช้ ดิ์ และนิยมเขียนตามคำอ่านคล้ายการสะกดคำพื้นฐานของภาษาไทย
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าบุญอุ้ม_ณ_จำปาศักดิ์